วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ตะไคร้




ตะไคร้                    (Lemongrass)
ชื่อวิทยาศาสตร์            Cymbopogon citratus (DC.) Staph
ชื่อท้องถิ่น จะไคร (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (แม่ฮ่องสอน) เชิดเกรย ,เหลอะเกรย(เขมร-สุรินทร์), ห่อวอตะโป่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ 4-6 ฟุต ใบยาวเรียว ปลายใบมีขนหนาม ลำต้นรวมกันเป็นกอ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อยาวมีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมาก ตะไคร้เป็นพืชที่สามารถนำส่วนต้นหัวไปประกอบอาหาร และจัดเป็นพืชสมุนไพรด้วย
ถิ่นกำเนิด
                ตะไคร้มีถิ่นกำเนิด ในประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา พม่า อินเดีย ไทย และในทวีปอเมริกาใต้
ลักษณะโดยทั่วไป
โดยทั่วไปแบ่งตะไคร้ออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
ตะไคร้กอ   ตะไคร้ต้น  ตะไคร้หางนาค   ตะไคร้น้ำ   ตะไคร้หางสิงห์  ตะไคร้หอม
                    เป็นพืชตระกูลหญ้า ตะไคร้เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย อาจมีทรงพุ่มสูงถึง 1 เมตร มีลำต้นที่แท้จริงประมาณ 4-7 เซนติเมตร ลำของต้นจะถูกห่อหุ้มไปด้วยกาบใบโดยรอบ ใบยาวแคบเส้นใบขนานกับก้านใบ ใบของตะไคร้อุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ที่นิยมนำมาปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันโดยทั่วไป
การปลูกและขยายพันธุ์
                        ปลูกได้การปักชำต้นเหง้า โดยตัดใบออกให้เหลือตอนโคนประมาณหนึ่งคืบ นำมาปักชำไว้สักหนึ่งสัปดาห์ก็จะมีรากงอกออกมา แล้วนำไปลงแปลงดินที่เตรียมไว้ หรืออาจใช้วธีเอาโคนปักลงไปที่ดินซึ่งเตรียมไว้เลย ให้ห่างประมาณหนึ่งศอก ถ้าปลูกในกระถางใช้วิธีปักโคนลงในกระถางๆละ 2-3 ต้นก็ได้ แล้วหมั่นรดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น ตั้งไว้ให้โดนแดดตลอดวันจะทำให้โตได้เร็ว ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย เป็นพืชที่ชอบน้ำ ชอบแดด ดูแลรดน้ำเสมอและโดนแดดได้ตลอดวัน เจริญได้ในดินแทบทุกชนิด เวลาจะใช้ก็ให้ตัดที่โคนสุดส่วนรากเลย แล้วถอนออกมาทั้งต้นตามต้องการ ต้องคอยตรวจดูเมื่อตะไคร้มีกอเจริญเติบโตได้เต็มที่แล้ว ต้องถอนทิ้งหรือแยกออกไปปลูกใหม่บ้างหรือเอาไปใช้บ้าง จำนำมาหั่นเป็นฝอยๆ ตากแดดให้แห้งสนิทแล้วแพ็คเก็บไว้ใช้ได้นานๆ เพื่อให้ต้นอ่อนโตขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่แยกออกไปต้นจะเล็กและลีบลงเรื่อยๆ และบางที่ก็แคระแกร็น ต้นและกอก็จะโทรม
สรรพคุณ
                     ใช้ส่วนของเหง้าและลำต้นแก่ ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่สำคัญหลายชนิดเช่น ต้มยำ และอาหารไทยหลายชนิด ให้กลิ่นหอม มีสรรพคุณทางยาเช่น บำรุงธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ทำให้เจริญอาหาร แก้กลิ่นคาวหรือดับกลิ่นคาวของปลา และเนื้อสัตว์ได้ดีมาก บำรุงสมอง ช่วยให้สมาธิดี ต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้อาเจียร ใช้ต้นสดโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมาในกรณีผู้ที่เมามากๆ ช่วยให้สร่างเร็ว น้ำมันตะไคร้หอมใช้ทากันยุงได้ ถ้าปลูกใกล้ผักอื่นๆจะช่วยกันแมลงได้
ตำรายาไทย
ใบ       รสปร่า ลดความดันโลหิต แก้ไข้
ต้น      รสหอมปร่า ขับลม แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่ว ดับกลิ่นคาว เจริญอาหาร
เหง้า    รสปร่า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กษัย ขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะขัด แก้
              ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว
ทั้งต้น   รสหอมปร่า แก้หืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ
วิธีทำน้ำตะไคร้ไว้ดื่ม
                     นำต้นตะไคร้มาทุบแล้วใส่ลงไปต้มในน้ำที่กำลังเดือดพล่าน รอจนน้ำเปลี่ยนสีให้ยกลง เอากากออกแล้วเอาน้ำตาลใส่ ชิมดูรสชาติหวานปานกลาง พอเย็นลงเก็บใส่ตู้เย็น แก้กระหาย ใช้ดื่มก่อนดื่มเหล้าจะทำให้ดื่มเหล้าได้น้อยลง และทำให้เจริญอาหาร
ชาตะไคร้
                   สรรพคุณ : แก้ปวดกระดูก , ปวดหลัง , ปวดแข้งปวดขา , ป้องกันโรคกระดูกผุ , นั่งดูหนังสือแล้วตาลาย ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด , ป้องกันโรคไต , เบาหวาน , คอเรสเตอรอล
วิธีทำ
                เอาต้นตะไคร้ล้างให้สะอาด (ตะไคร้ที่ใช้ทำอาหาร) ใช้ส่วนที่เป็นต้น ใบกับรากไม่เอา หั่นตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำมาคั่วให้เหลืองหอม เก็บไว้ชง หรือต้มกินต่างน้ำ เหมือนน้ำชา

ที่มา : หนังสือ"สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 2 เรื่อง ไม้ริมรั้ว"
: สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น