วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กระชาย







ชื่อวิทยาศาสตร์           Boesenbergia pundurata (R0xb) Schitr
วงศ์                        Zinggberaceae
ชื่อท้องถิ่น                 กะแอน  (ภาคเหนือ)   ขิงทราย (มหาสารคาม)   ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤษศาสตร์
                  กระชายเป็นไม้ล้มลุก สูงราว 1-2 ศอก มีลำต้นใต้ดินเรียกเหง้า มีรากทรงกระบอกปลายแหลมจำนวนมากรวมติดอยู่ที่เหง้าเป็นกระจุก เนื้อในรากละเอียด สีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะกาบใบสีแดงเรื่อ ใบใหญ่ยาวรีปลายแหลม ดอกเป็นช่อ สีขาวชมพู ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า กระชายชอบดินร่วนปนทราย ไม่ชอบดินแฉะ ต้องการแค่ปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติ ฤดูที่เหมาะกับการปลูกคือปลายฤดูแล้ง   กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป ส่วนที่ใช้เป็นอาหารและยาในประเทศไทยคือเหง้าใต้ดินและราก   ในประเทศจีนมีรายงานการใช้กระชายเป็นยา    ในประเทศไทยมีพืชที่เรียกว่ากระชายอยู่ 3 ชนิด คือกระชาย (เหลือง) กระชายแดง และกระชายดำ      กระชายเหลืองและกระชายแดง เป็นพืชจำพวก (genus และ species) เดียวกัน แต่เป็นพืชต่างชนิดกันและมีฤทธิ์ทางยาต่างกันเล็กน้อย โดยกระชายแดงจะมีกาบใบสีแดงเข้มกว่ากระชายเหลือง   ส่วนกระชายดำ เป็นพืชวงศ์ขิงเช่นกันแต่อยู่ในตระกูลเปราะหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora Wall. Ex Bak.

วิธีปลูก
               กระชายชอบอากาศร้อนชื้นและขึ้นได้ดีในดินปนทราย วิธีการปลูกคือใช้เหง้า ตัดรากทิ้งไปบ้างให้เหลือไว้ 2 ราก และปลูกให้ลึกประมาณ 15 ซม. กลบด้วยปุ๋ยคอกและคลุมด้วยฟางแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม

สาระสำคัญที่พบ
                รากและเหง้ากระชายมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารไพนีน แคมฟีน เมอร์ซีน ไลโมนีน บอร์นีออลและการบูร เหง้าและรากของกระชายมีรสเผ็ดร้อนขม หมอยาพื้นบ้านในประเทศไทยใช้เหง้า และรากของกระชายแก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด แก้โรคกระเพาะ รักษาแผลในปาก แก้ตกขาว กลาก เกลื้อน ใช้เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง และใช้บำบัดโรคกามตายด้านอีกด้วย

สรรพคุณ
                   กระชายมีรสเผ็ดร้อน สารสำคัญในรากและเหง้ากระชายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยเจริญอาหารและแก้โรคในช่องปาก  และ......
         1. แก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย นำรากกระชายย่างไฟ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม
         2. รักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้มกระชายพร้อมมะขามเปียก เติมเกลือแกงเล็กน้อย รับประทานก่อนนอนทุกวัน
         3. ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ตำรากกระชาย 1 กำมือให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานก่อนอาหารเย็น
         4. ช่วยบำรุงหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ นำกระชายแห้งบดให้เป็นผงละลายกับน้ำร้อน
         5. นำรากกระชาย ตะไคร้ หอมแดง ข่า ใบสะเดาแก่ ตำผสมกัน ใช้ฉีดบริเวณที่มีแมลงรบกวน
         6. บำบัดโรคกระเพาะ กินรากสดแง่งเท่านิ้วก้อยไม่ต้องปอกเปลือก วันละ 3 มื้อ ก่อนอาหาร 15 นาที สัก 3 วัน ถ้ากินได้ให้กินจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้าเผ็ดร้อนเกินไปหลังวันที่ 3 ให้กินขมิ้นสดปอกเปลือกขนาดเท่ากับ 2 ข้อนิ้วก้อยจนครบ 2 สัปดาห์
         7.บรรเทาอาการแผลในปาก ปั่นรากกระชายทั้งเปลือก 2 แง่งกับน้ำสะอาด 1 แก้วในโถปั่นน้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนกาแฟโบราณ กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้กลั้วปากวันละ 3 เวลาจนกว่าแผลจะหาย ถ้าเฝื่อนเกินไปให้เติมน้ำสุกได้อีก ส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งใช้เก็บในตู้เย็นได้ 1 วัน
         8. แก้ฝ้าขาวในปาก บดรากกระชายที่ล้างสะอาด ไม่ต้องปอกเปลือก ในโถปั่นพอหยาบ ใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น กินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนกาแฟเล็ก (เหมือนที่เขาใช้คนกาแฟโบราณ) วันละ 3 มื้อก่อนอาหาร 15 นาที สัก 7 วัน
         9. ฤทธิ์แก้กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า คันศีรษะจากเชื้อรา นำรากกระชายทั้งเปลือกมาล้างผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น แล้วบดให้เป็นผงหยาบ เอาน้ำมันพืช (อาจใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้) มาอุ่นในหม้อใบเล็กๆ เติมผงกระชายใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย หุง (คนไปคนมาอย่าให้ไหม้) ไฟอ่อนๆ ไปสักพักราว 15-20 นาที กรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชาใช้ทาแก้กลาก เกลื้อน
         10. แก้คันศีรษะจากเชื้อรา ให้เอาน้ำมันดังกล่าวไปเข้าสูตรทำแชมพูสระผมสูตรน้ำมันจากที่ไหนก็ได้ โดยใช้แทนน้ำมันมะพร้าวในสูตร ประหยัดเงินและได้ภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผม ให้เพิ่มปริมาณน้ำมันพืชอีก 1 เท่าตัว โกรกด้วยน้ำมันกระชายสัก 5 นาที นวดให้เข้าหนังศีรษะ แล้วจึงสระผมล้างออก
         11. ฤทธิ์เป็นยาอายุวัฒนะ ผงกระชายทั้งเปลือกบดตากแห้งปั้นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง กินวันละ 3 ลูกก่อนเข้านอน ตำรับนี้เคยมีผู้รายงานว่าใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้ หรือใช้กระชายตากแห้งบดผงบรรจุแคปซูล แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินวันละ 1 แคปซูลตอนเช้าก่อนอาหารเช้าในสัปดาห์แรก วันละ 2 แคปซูลตอนเช้าในสัปดาห์ที่ 2
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
                      ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารก็คือ เหง้าและราก รากกระชายเป็นส่วนผสมของเครื่องแกงขนมจีนน้ำยา และเป็นส่วนประกอบของอาหารอีกหลายชนิดเพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อและปลา เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก แกงเผ็ดเนื้อ แกงป่า หลนปลาร้า ฯลฯ

แหล่งข้อมูล   ปัญญาไทยดอทคอม,โหระพาดอทคอม,สมุนไพรดอทคอม